Search

วิถีแห่งโยคะ 8 Limbs of yoga

กว่า 2,000 ปีก่อนโน้น ‘ปตัญจลี (Patanjali)’ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งโยคะ เจ้าของคัมภีร์ศาสตร์แห่งโยคะ ‘Yoga Sutra’ ได้รวบรวมเอาหลักปฏิบัติที่จะช่วยนำทางผู้ที่แสวงหาการตรัสรู้ทางจิตวิญญาณด้วยการฝึกโยคะไว้ด้วยกัน 8 ประการ

8 Limbs of yoga หรือ Ashtanga Yoga

Ashtanga มาจาก ‘Ashta’ = 8 และ Anga = Limb มีความหมายโดยรวมว่า 8 สาขา

หากเปรียบโยคะเป็นร่างกาย ก็จะมีอวัยวะทั้งหมด 8 อวัยวะ หรือหากเปรียบเป็นต้นไม้ หลักทั้ง 8 นี้ก็เปรียบได้ว่าเป็นกิ่งก้านหลักที่จะแตกสาขาออกไป ซึ่งหลายคนถือว่าหลักปฏิบัตินี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง

โดยในบทความนี้จะขออธิบายหลักปฏิบัติหรือวิถีแต่ละข้อโดยสังเขปให้ได้รู้กันว่า การฝึกโยคะอย่างสมบูรณ์นั้นมีสิ่งใดบ้าง

1. YAMA – ยามะ : Social Ethics

หมายถึงหลักการปฏิบัติต่อผู้อื่น ได้แก่

  • Ahimsa – อหิงสา (การไม่เบียดเบียน / ไม่ใช้ความรุนแรง)
  • Satya – สัตยา (รักษาความจริง / ซื่อสัตย์)
  • Asteya – อัสเตยะ (การไม่ลักทรัพย์)
  • Brahmacharya – พรหมจรรย์ (การใช้พลังงานอย่างถูกวิธี / การยับยั้งชั่งใจทางเพศ / ซื่อสัตย์ในชีวิตสมรส) และ
  • Aparigraha – อปริครหะ (ความไม่โลภ / การไม่หมกมุ่น)

2. NIYAMA – นิยามะ : Personal Practices

หมายถึง หลักปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง ได้แก่

  • Saucha – เศาจะ (ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความปลอดโปร่งของจิตใจ วาจา และร่างกาย)
  • Santosha – สันโดษ (ความพอใจ การยอมรับผู้อื่น การยอมรับสภาพการณ์ของตน การมองโลกในแง่ดีต่อตนเอง)
  • Tapas – ตบะ (ความพากเพียร ความอุตสาหะ ความสมถะ การบำเพ็ญตบะ ความมีวินัยในตนเอง)
  • Svadhyaya – สวาธยายะ (การศึกษาตนเองหรือการหาความรู้) และ
  • Isvarapranidaha – อิศวรประณิธาน (การยอมรับ การศรัทธา เช่น พระเจ้า ตัวตนที่แท้จริง ความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ศาสตร์โยคะที่ฝึกอยู่ เป็นต้น)

3. ASANA – อาสนะ : Postures

หมายถึงการฝึกร่างกาย เพื่อให้เกิดความมั่นคง สมดุล ร่างกายและใจแข็งแรง ในโยคะไม่ว่าจะฝึกฝนอาสนะใด ที่สุดแล้ว Patanjali กล่าวว่าจะต้อง “Sthiram Sukham Asanam – สถิระ สุขขัม อาสนะนัม” คือเป็นท่าทางที่มั่นคงและสบาย การฝึกอาสนะทำให้เกิดวินัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเติบโตต่อไปทางจิตวิญญาณ

4. PRANAYAMA – ปราณยามะ : Mindfulness Breathing

หมายถึงการฝึกควบคุมลมหายใจ กล่าวกันว่าปราณายามะ คือ Life force extension การฝึกจะให้วิธีควบคุมพลังชีวิตหรือปราณาแก่เรา ในทางปฏิบัติช่วยให้เรามีพลังงานมากขึ้นและทำให้จิตใจสงบ

Colorful Benefit Of Hatha Yoga Abstract List Instagram Story 1200 × 628px 3

5. PRATYAHARA – ปรัตยาหาระ : Turning Inward
หมายถึงเมื่อเรารับรู้ต่อสิ่งเร้าภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง ให้เพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านั้นเหมือนเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เฝ้าระวัง ทำความเข้าใจ และละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป กล่าวง่ายๆ คือเป็นการฝึกควบคุมประสาทสัมผัส

6. DHYRANA – ธารณะ : One point attention

หมายถึงการมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มุ่งความสนใจไปที่วัตถหรือความคิดเดียว การเพ่งจ้อง ในโยคะธารณะใช้เป็นเครื่องมือในการทำสมาธิ ซึ่งช่วยให้เราพัฒนาความสงบภายในได้

7. DHYANA – ธยานะ : Meditative Absorption

หมายถึงการตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริงของเรา เป็นการอบรมจิตใตของเราอยู่เสมอ โดยมีจิตใจที่สงบนิ่งและจดจ่อได้อย่างต่อเนื่องยาวนานไม่หยุด จนเกิดญาณหยั่งรู้

8. SAMADHI – สมาธิ : Pure Bliss

หมายถึงความสงบสุข เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเดินทางตามโยคะสุตราของ Patanjali หลังจากที่เราได้จัดระเบียบความสัมพันธ์กับโลกภายนอก (Yama Niyama Asana Pranayama) และโลกภายใน (Dhyrana Dhyna) ของเราใหม่แล้ว ก็มาถึงตอนจบแห่งความสงบสุขคือสมาธิ จิตมีความเป็นหนึ่งเดียว มุ่งมั่นแน่วแน่

Colorful Benefit Of Hatha Yoga Abstract List Instagram Story 1200 × 628px 2 1

8 Limbs of Yoga เป็นวิถีซึ่งเป็นที่รู้จักและถูกนำมาใช้เพื่อชีวิตที่สงบสุขและเติมเต็มได้มากขึ้น ไม่ใช่ศาสนาแต่เป็นวิถีชีวิตที่สามารถใช้ได้กับทุกศาสนา ฉะนั้นแล้วการฝึกโยคะ นอกจากจะได้ประโยชน์เต็มที่จากกายและใจที่จับต้องได้แล้ว ยังทำให้เกิดความสุขสมดุลภายในระดับจิตวิญญาณได้ด้วยเช่นกัน