ผู้ที่ฝึกโยคะจะได้เจอกับการฝึกอาสนะหลากหลายท่าที่มีการ Backbend หรือแอ่น/โค้งหลังรวมอยู่ด้วย การจะเข้าท่า Backbend ได้ (ดี) ต้องอาศัยความสมดุลของร่างกายทั้งความยืดหยุ่น ความแข็งแรง รวมทั้งลมหายใจไปพร้อมๆ กัน นั่นคือการยืดลำตัวด้านหน้าตั้งแต่สะโพกขึ้นมากระทั่งใช้การขยายของอก และนอกจากการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังแล้ว ยังต้องพึ่งพากล้ามเนื้อหน้าขา แกนกลาง กล้ามเนื้อด้านหลังและด้านข้างที่แข็งแรง ซึ่งจะช่วงพยุงร่างกายเมื่อเราแอ่น รวมถึงลมหายใจที่ใช้ก็ต้องทำให้เราคงอยู่ในท่าได้สบาย ฉะนั้นแล้วหากเราเข้าใจวิธีการฝึกและเข้าใจร่างกายของตัวเอง การฝึกท่า Backbend ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมากทั้งกับร่างกายและจิตใจ
ในทางปรัชญา ท่า Backbend มีสัญลักษณ์และความหมายที่ลึกซึ้งเลยทีเดียว เกี่ยวข้องกับการเปิดจักระหัวใจ #heartchakra หรือ Anahata (อ่าน ความสมดุลของจักระในด้านอารมณ์) ซึ่งเชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของความรัก ความเห็นอกเห็นใจ การให้อภัย และความสมดุลทางอารมณ์ ด้วยท่าทางของการเปิดอก (และหัวใจ) เปรียบเสมือนการรับรู้ถึงความยืดหยุ่นและความแข็งแรง เป็นการเตือนเราถึงความสำคัญของการหาสมดุลในทุกด้านของการเป็นอยู่ของเรา แล้วยังเผื่อแผ่ไปถึงการเปิดใจยอมรับผู้คนรอบข้างด้วยอย่างไรอย่างนั้น
สำหรับประโยชน์ทางร่ายกาย ขณะที่โค้งหลังนั้นกระดูกสันหลังจะถูกประกบและยืดออก เป็นการส่งเสริมความยืดหยุ่นและความคล่องตัวให้กับกระดูกสันหลังทั้งหมด กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ถูกกระตุ้นให้ทำงาน ป้องกันอาการปวดหลังส่วนล่าง และยังเป็นการเปิดร่างกายส่วนหน้า ยืดกล้ามเนื้อหน้าอก ไหล่ และหน้าท้องให้แข็งแรง กระตุ้นกล้ามเนื้อของร่างกายส่วนบน ช่วยปรับปรุงท่าทาง และความสามารถในการหายใจจากการขยายตัวของซี่โครง ซึ่งช่วยเพิ่มความจุของปอดและออกซิเจน ทำให้หายใจเข้าและออกได้ลึกขึ้น เสริมการทำงานของระบบทางเดินหายใจและส่งเสริมความรู้สึกของความมีชีวิตชีวาและพลังงานด้วย
นอกจากนี้ การฝึก Backbends ยังไปกระตุ้นระบบต่อมไร้ท่อซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตและควบคุมฮอร์โมนในร่างกาย ขณะที่เราโค้งตัวไปด้านหลัง เราจะสร้างการบีบตัวเบาๆ บนต่อมที่อยู่ด้านหน้าของร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์และต่อมไทมัส การบีบตัวนี้จะกระตุ้นต่อมต่างๆ และสามารถส่งผลดีต่อความสมดุลของฮอร์โมนและสุขภาพของต่อมโดยรวม
การฝึก Backbend สำหรับบางคนแล้วถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทางร่างกายและกิจวัตรประจำวัน ดังนั้นจึงสำคัญที่จะต้องฝึกด้วยความระมัดระวังและตระหนักรู้ เริ่มต้นด้วยท่าง่ายๆ เช่น Bhujangasana (Cobra Pose) และ Urdhvamukhasvanasana (Upward-Facing Dog Pose) แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปท่าที่ลึกขึ้น เช่น Urdhva Dhanurasana (Wheel Pose) และ Ushtrasana (Camel Pose) และไต่ไปถึงระดับ Advance ผสมผสานรูปแบบต่างๆ ที่เรียกว่า Variation กับอาสนะอื่นๆ ได้ เช่น Eka Pada Rajakapotasana (King Pigeon Pose) หรือ Vrischikasana (Scorpion Pose) โดยทุกครั้งอย่าลืม!!! ใช้กล้ามเนื้อแกนกลาง รักษาระดับสะโพกไว้เพื่อป้องกันหลังส่วนล่าง ใช้ลมหายใจที่ลึก (สบาย) และอยู่กับปัจจุบัน
ข้อควรระวัง เมื่อเราฝึก Backbend คือต้องมีสติ และจัด Alignment ท่าทางที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดและการบาดเจ็บ ไม่ต้องรีบเข้าท่าให้ลึก การฟังร่างกายของเราถือเป็นกุญแจสำคัญในการฝึก หากร่างกายมีข้อจำกัด อาการบาดเจ็บ หรือข้อกังวลใดๆ ควรขอคำแนะนำจากครูสอนโยคะของเราหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่างๆ
เมื่อเข้าใจเกี่ยวกับการฝึก Backbend ก็สามารถฝึกอย่างมีความสุขและเก็บเกี่ยวประโยชน์ของท่าได้อย่างเต็มที่ ท่าเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย ความยืดหยุ่น และท่าทางเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความสามารถในการหายใจ ระบบต่อมไร้ท่อ และความเป็นอยู่โดยรวมของเรา ด้วยการฝึกฝนเป็นประจำและเทคนิคที่เหมาะสม ท่า Backbend สามารถกลายเป็นส่วนเปลี่ยนแปลงและเพิ่มพลังให้กับการฝึกโยคะของเราได้
บทความที่เกี่ยวข้อง:
โยคะท่าก้ม – Forward Bend: Bend, Breathe, and Unwind
ก้ม แอ่น บิด เอียง “Basic YOGA Poses” ท่าโยคะพื้นฐานชะลอความเสื่อมของร่างกาย